
สงกรานต์เป็นเทศกาลสำคัญของไทย ที่เต็มไปด้วยความรื่นเริง รอยยิ้ม และกิจกรรมร่วมกันในชุมชน เป็นช่วงเวลาที่หลายคนเฝ้ารอเพื่อจะได้พบปะญาติพี่น้องหรือสังสรรค์กับเพื่อนฝูง แต่ท่ามกลาง บรรยากาศแห่งการเล่นน้ำ สาดน้ำปะแป้งกันอย่างสนุกสนาน ทว่าภายใต้บรรยากาศที่ชุ่มฉ่ำ ยังมีอีกด้านหนึ่งที่เราต้องใส่ใจอย่างจริงจัง นั่นคือ “พฤติกรรมทางเพศที่เสี่ยง” และ “การละเมิดสิทธิในร่างกายของผู้อื่น” สงกรานต์ปีนี้ศูนย์วิจัยโรคเอดส์และโรคติดเชื้อ สภากาชาดไทย ขอเชิญชวนทุกคนร่วมสร้างสงกรานต์ที่ปลอดภัยและเคารพสิทธิ ด้วยการเรียนรู้และยึดถือหลัก “ความยินยอม (Consent)” ในทุกความสัมพันธ์
“Consent” คืออะไร?
“Consent” หรือ “ความยินยอม” คือการที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ตกลงกันอย่างสมัครใจ ว่าจะมีกิจกรรมหรือการกระทำใดๆร่วมกัน รวมทั้งในเรื่องของการสัมผัสเนื้อตัว หรือการมีเพศสัมพันธ์ ทั้งนี้ การให้ความยินยอมต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขสำคัญ ดังต่อไปนี้:
1. ชัดเจน – พูดหรือแสดงออกว่า “ตกลง”
2. เต็มใจ – ไม่ถูกบังคับ กดดัน หรืออยู่ในภาวะมึนเมา
3. ถอนตัวได้เสมอ – แม้จะเคยตกลงแล้ว
4. อยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจ – รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น และมีความเสี่ยงอะไรบ้าง
สาดน้ำได้…แต่อย่าละเมิดสิทธิ
หลายคนอาจคิดว่า “เล่นน้ำสงกรานต์ ก็แค่เรื่องสนุก การถูกเนื้อต้องตัวกันเลยเป็นเรื่องธรรมดา”แต่ในความเป็นจริง การสัมผัสร่างกายผู้อื่นโดยไม่ได้รับความยินยอม ไม่ว่าจะเป็นการสาดน้ำ แตะตัว ปะแป้ง โอบกอด หรือจับต้องโดยไม่ขออนุญาต อาจสร้างความไม่สบายใจ หรือแม้แต่เป็นการ คุกคามทางเพศ ได้โดยไม่ตั้งใจ
สิทธิในร่างกายเป็นสิ่งพื้นฐานที่ทุกคนควรได้รับ การยินยอม (Consent) จึงเป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้ความสนุก การถามว่า “โอเคมั้ยถ้าจะขอปะแป้ง” หรือ “ขอปะแป้งที่หน้าได้ไหม” อาจเป็นคำถามง่าย ๆ แต่สะท้อนความใส่ใจและการให้เกียรติผู้อื่นอย่างแท้จริง
สนุกอย่างปลอดภัย ห่างไกลโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
นอกจากเรื่องสิทธิแล้ว อีกประเด็นที่มักถูกพูดถึงน้อยในช่วงเทศกาลคือ ความเสี่ยงในการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (STIs) ไม่ว่าจะเป็น เอชไอวี ซิฟิลิส หนองใน หรือเริม ซึ่งสามารถติดต่อได้ผ่านการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน
ช่วงสงกรานต์มักเป็นช่วงที่คนจำนวนมากมีโอกาสพบเจอและพัฒนาความสัมพันธ์ใหม่ ๆ ซึ่งแม้จะเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่หากไม่มีการป้องกันที่เหมาะสม ก็อาจนำไปสู่ความเสี่ยงที่คาดไม่ถึง ดังนั้นไม่ใช่เรื่องผิดที่เราจะเตรียมตัวให้พร้อมรับมือในการสนุกอย่างปลอดภัย โดยมีแนวทางดังนี้
1. ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ ป้องกันได้ทั้ง HIV และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ โดยสามารถเลือกใช้ได้ทั้งถุงยางอนามัยสำหรับเพศชายและถุงยางอนามัยสำหรับเพศหญิง
2. ใช้สารหล่อลื่นสูตรน้ำร่วมด้วย ลดความเสี่ยงของการฉีกขาดและการติดเชื้อระหว่างมีเพศสัมพันธ์
3. การใช้ PrEP / PEP เพื่อลดความเสี่ยง
- PrEP (Pre-Exposure Prophylaxis) คือยาป้องกันก่อนสัมผัสเชื้อ HIV
- PEP (Post-Exposure Prophylaxis) คือยาป้องกันหลังเสี่ยง เช่น หลังมีเพศสัมพันธ์ไม่ป้องกันใน 72 ชั่วโมง
4. การตรวจคัดกรองเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นประจำ โดยเฉพาะหากมีพฤติกรรมเสี่ยง หรือมีคู่นอนหลายคน การตรวจจะช่วยให้รู้เร็ว รักษาเร็ว และหยุดการแพร่เชื้อ
5. หมั่นสังเกตร่างกายตัวเองและคู่ หากมีอาการผิดปกติ เช่น แผล ผื่น ตุ่ม หรือสารคัดหลั่งผิดปกติ ควรงดกิจกรรมทางเพศและรีบพบแพทย์
การเคารพสิทธิในร่างกายของกันและกัน ไม่เพียงแต่เป็นพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างปลอดภัย ยังเป็นรากฐานของการมีเพศสัมพันธ์ที่เคารพกันและลดความเสี่ยงของการถูกล่วงละเมิด หรือแม้กระทั่งการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การเริ่มต้นจากความเคารพพื้นที่ส่วนตัว เช่น ไม่ฉวยโอกาส ไม่ใช้แอลกอฮอล์เป็นข้ออ้าง และไม่เพิกเฉยต่อคำว่า “ไม่” คือกุญแจสำคัญของสังคมที่ปลอดภัยและน่าอยู่สำหรับทุกคน การถามก่อนจับ การไม่บังคับ การไม่ดื่มจนขาดสติ และการรับฟังคำว่า “ไม่” อย่างเข้าใจ คือพฤติกรรมเล็ก ๆ ที่สะท้อน “วุฒิภาวะทางเพศ” และ “ความรับผิดชอบ” ที่ควรมีในทุกเทศกาล
บทความโดย… ชนินทร์ สุขสม
หัวหน้างานสังคมและจิตวิทยา ศูนย์วิจัยโรคเอดส์และโรคติดเชื้อ สภากาชาดไทย