PrEP แบบฉีด (Injectable PrEP) กำลังเป็นที่พูดถึงกันอย่างแพร่หลายในกลุ่มที่สนใจ ซึ่งเป็นทางเลือกใหม่ที่เพิ่มประสทธิภาพจากการกินเป็นการฉีดแทน ปัจจุบันมีหลายคนเข้าใจผิดว่า PrEP แบบฉีด เป็นวัคซีนป้องกันเชื้อเอชไอวี ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว PrEP แบบฉีด คือ ยาสำหรับการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีเท่านั้น
รองศาสตราจารย์ นายแพทย์โอภาส พุทธเจริญ รักษาการรองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคเอดส์และโรคติดเชื้อ สภากาชาดไทย เปิดเผยว่า “PrEP แบบฉีด ไม่ใช่วัคซีนป้องกันเชื้อเอชไอวี แต่เป็นยา cabotegravir หรือยา lenacapavir ที่ป้องกันได้เฉพาะเชื้อเอชไอวีเท่านั้น และต้องได้รับการฉีดอย่างต่อเนื่องทุก 2 หรือ 6 เดือน ซึ่ง หากขาดช่วงหรือไม่ปฏิบัติตามกำหนด อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีได้ ซึ่งยานี้ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นได้ เช่น หนองในแท้ หนองในเทียม เริม หูดหงอนไก่ ซิฟิลิส ฝีดาษวานร ฯลฯ ซึ่งถือเป็นทางเลือกใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูงสำหรับการป้องกันเอชไอวีในปัจจุบัน โดยสภากาชาดไทยจะเริ่มนำเข้าและให้บริการประมาณต้นปี 2568 โดยมีการศึกษา PrEP แบบฉีด ที่ชื่อว่า HPTN 083 และ HPTN 084 แสดงให้เห็นว่ายามีประสิทธิภาพป้องกันเอชไอวีดีกว่ายากินและช่วยลดความยุ่งยากในการที่ต้องกินยาแบบรายวัน โดยก่อนเริ่มใช้ PrEP แบบฉีด จำเป็นต้องตรวจหาเชื้อเอชไอวีก่อน เพราะยา PrEP ใช้สำหรับป้องกัน ไม่ใช่การรักษา หากผู้ที่มีเชื้อเอชไอวีอยู่แล้วกินหรือฉีดยา PrEP อาจทำให้เชื้อดื้อยาและยากต่อการรักษาในอนาคตได้ ฉะนั้น PrEP แบบฉีดเป็น “ยา ไม่ใช่ วัคซีน” ซึ่งผลข้างเคียงจากการฉีด PrEP ส่วนใหญ่จะไม่รุนแรง เช่น ปวดบริเวณที่ฉีด คลื่นไส้ หรืออ่อนเพลีย หากมีอาการผิดปกติที่รุนแรงควรพบแพทย์ทันที และผู้ที่ฉีดยา PrEP ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างเคร่งครัด และเข้ารับการตรวจติดตามอย่างสม่ำเสมอ เพื่อประเมินประสิทธิภาพของการป้องกันที่เหมาะสม”
สำหรับผู้สนใจฉีดยา PrEP สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารได้ที่ เฟซบุ๊กเพจ : คลินิกนิรนาม ศูนย์วิจัยโรคเอดส์และโรคติดเชื้อ สภากาชาดไทย หรือสอบถามเพิ่มเติม โทร. 0 2251 6711-5 ในวันจันทร์–ศุกร์ เวลา 08.30–16.00 น. (ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)