Human Immunodeficiency Virus หรือ HIV เป็นเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง ที่ติดต่อจากคนสู่คน เมื่อร่างกายมีการติดเชื้อ HIV โดยปกติจะไม่มีอาการบ่งชี้ที่ชัดเจน ในบางรายอาจมีอาการคล้ายกับการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ มีไข้ เจ็บคอ ปวดศรีษะ ต่อมน้ำเหลืองโต เป็นต้น อย่างไรก็ตามจุดมุ่งหมายที่สำคัญของ HIV คือ ทำลายภูมคุ้มกันในร่างกาย โดยเฉพาะเม็ดเลือดขาวชนิด CD4 จนทำให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายลดลงจนไม่สามารถต่อสู้กับเชื้อโรคต่างๆได้ ผู้ติดเชื้อ HIV จะเข้าสู่สภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือที่รู้จักกันว่า AIDs
การที่เรารู้ว่าตัวเองติดเชื้อ HIVหรือไม่ ถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็นอย่างมาก เพราะการทราบสถานะผลเลือดจะนำไปสู่การป้องกันและการดูแลตัวเอง เข้าสู่กระบวนการรักษาได้อย่างถูกต้องทันท่วงที การที่เราจะรู้ว่ามีการติดเชื้อ HIV หรือไม่ ก็ต้องอาศัยการตรวจ HIV อย่างเดียวเท่านั้น เพราะคนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจว่าถ้าร่างกายแข็งแรงดีแสดงว่าไม่มีการติดเชื้อแต่อย่างใด และการที่รู้สถานะว่าตนเองและคู่นอนไม่ติดเชื้อ HIV นั้น ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ ที่ทั้งคู่จะได้เริ่มต้นการป้องกันการติดชื้อ HIV อย่างจริงจัง และถ้าตรวจแล้วเจอว่ามีการติดเชื้อ HIV ก็ถือว่าโชคดีที่รู้ตัวไว ได้เข้ารับการรักษารวดเร็ว ก่อนจะแพร่เชื้อไปให้ผู้อื่น และจะได้ป้องกันไม่ให้คนที่เรารักติดเชื้อตามไปด้วย จะเห็นได้ว่าแม้การตรวจ HIV จะทำให้เกิดความกังวล หรือแม้กระทั่งความเครียด แต่การตรวจ HIV ทำให้เราได้ประโยชน์ต่อการวางแผนป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อ HIV ในอนาคต และประโยชน์ต่อการเข้าสู่กระบวนการรักษาโดยไม่ต้องรอให้ร่างกายเข้าสู่สภาวะ AIDs ได้เลย
ปัจจุบันวิธีการตรวจหาเชื้อ HIV มีหลายวิธี และสามารถตรวจพบการติดเชื้อฯ ได้ไวหลังจากเกิดความเสี่ยงหรือการสัมผัสเชื้อขึ้น จึงอยากจะชวนทุกคนมาดูกันว่า เราใช้วิธีการใดในการตรวจเอชไอวีกันบ้างในปัจจุบัน
- ตรวจหา Antibody และ Antigen (P24) เป็นการตรวจหา Antibody ที่จำเพาะต่อเชื้อเอชไอวี และส่วนโปรตีนของเชื้อ P24 Antigen โดยปัจจุบันนิยมใช้น้ำยา “4th generation” ที่สามารถตรวจได้หลังจากการติดเชื้อ HIV ได้ตั้งแต่ 14 วันขึ้นไป
- การตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อ HIV (Nucleic Acid Amplification Testing: NAT) ตรวจหา RNA จากพลาสมาแบบเชิงคุณภาพ (Qualitative) ของเชื้อไวรัสเอชไอวีที่เข้ามาในร่างกาย ที่สามารถตรวจหาการติดเชื้อHIV ได้ตั้งแต่ 7 วันขึ้นไป
- การใช้ชุดตรวจ HIV ด้วยตัวเอง (HIV Self-Test Kit) เป็นการตรวจหาAntibodyที่จำเพาะต่อเชื้อเอชไอวี ในร่างกาย ทั้งทางเลือดจากปลายนิ้วเเละจากสารคัดหลั่งในช่องปาก โดยใช้น้ำยา ” 3rd generation” ที่สามารถตรวจได้หลังจากการติดเชื้อ HIV ได้ตั้งแต่ 21-30 วันขึ้นไป
การตรวจหาการติดเชื้อ HIV สิ่งสำคัญที่สุดก็คือการที่เรารู้ว่าเรามีระยะหลังจากความเสี่ยง หรือหลังสัมผัสการติดเชื้อเพียงพอต่อวิธีที่เราจะใช้ในการตรวจหรือไม่ เพราะเราอาจอยู่ในระยะที่ตรวจหาเชื้อไม่พบ หรือ ระยะ Window Period อย่างไรก็ตามหากเราตรวจในระยะ Window Period แล้วไม่พบการติดเชื้อ HIV ก็สามารถตรวจยืนยันผลอีกครั้งตามระยะเวลาที่เหมาะสมของวิธีการที่เราใช้ในการตรวจก็จะสามารถยืนยันผลได้เช่นเดียวกัน
แม้ในปัจจุบันการตรวจ HIV จะสามารถตรวจได้สะดวก รวดเร็ว และไม่น่ากลัว แต่หากเรารู้ตัวว่ามีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีภายใน 72 ชั่วโมง ก็สามารถรับยาต้านไวรัสฉุกเฉิน Post Exposure Prophylaxis หรือที่เรียกกันว่ายา PEP หรือ nPEP ได้โดยการเข้ารับการตรวจเลือดเพื่อรับยาที่สถานพยาบาล และทานยาอย่างต่อเนื่องตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดเป็นเวลา 1 เดือน ก็จะสามารถลดโอกาสในการติดเชื้อเอชไอวีได้
บทความโดย ปกิตตา คิดสำเร็จ
นักจิตวิทยาให้การปรึกษา
ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย