เป็นข้อมูลที่น่าสนใจ จากการสำรวจข้อมูลของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ปี พ.ศ. 2565 ประเทศไทยมีผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี ประมาณ 561,578 คน มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 9,230 คน ซึ่งเกือบครึ่งหนึ่งของผู้ติดเชื้อรายใหม่ เป็นเยาวชนอายุ 15-24 ปี จำนวน 4,379 คน ในขณะเดียวกันยังพบว่าพฤติกรรมที่ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ ถึงร้อยละ 96 เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ป้องกัน และเมื่อพิจารณาสถานการณ์การเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ 5 โรคหลัก ซิฟิลิส หนองใน หนองในเทียม แผลริมอ่อน กามโรคต่อมน้ำเหลือง ช่วงปี 2560 – 2565 กลุ่มเยาวชนอายุ 15 – 24 ปี ยังเป็นกลุ่มที่มีอัตราป่วยมากและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยมีอัตราป่วย 99.6 ราย ต่อประชากรแสนคน ในปี 2560 เพิ่มขึ้นเป็นเป็น 112.3 ราย ต่อประชากรแสนคน ในปัจจุบัน
จากสถานการณ์ดังกล่าวเป็นไปได้ว่า วัยรุ่น-เยาวชนยังขาดความเข้าใจในเรื่อง เอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ จนอาจนำไปสู่การติดเชื้อเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เพิ่มขึ้นได้ โดยการที่จะหาข้อมูลในสื่อต่างๆออนไลน์นั้นมีมากแต่มักจะถูกมองข้าม อาจเป็นเพราะสังคมของวัยรุ่น-เยาวชนหรือการเรียนสุขศึกษาในสถานศึกษาไม่ได้เน้นย้ำในการตระหนักและการให้ความสำคัญในเรื่องของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มากเท่าที่ควร
ปัจุบันมีการให้ความรู้เกี่ยวกับ เอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เข้าถึงง่าย ไม่ว่าจะเป็นแหล่งข้อมูลจากสถานพยาบาลต่างๆ แหล่งข้อมูลจากกรมควบคุมโรค แม้กระทั่งสื่อออนไลน์ที่มีความน่าเชื่อถือต่างๆ ซึ่งสถานศึกษาควรส่งเสริม และริเริ่มให้มีการพูดถึงหรือให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคนี้อย่างจริงจัง ในขณะเดียวกันสถาบันครอบครัวซึ่งเป็นส่วนแรกที่มีความใกล้ชิดกับกลุ่มวัยรุ่น-เยาวชนมากที่สุด ก็มักจะไม่ค่อยสื่อสารในเรื่องเพศ เอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รวมทั้งการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย อย่างตรงไปตรงมา ส่วนใหญ่ด้วยความที่พ่อแม่ของวัยรุ่น-เยาวชนไม่ได้ถูกปลูกฝังมาตั้งแต่แรกจึงไม่ได้มีความรู้และสนใจที่จะพูดคุยเลย อีกทั้งกลุ่มวัยรุ่น-เยาวชนมักมองเป็นเรื่องไกลตัว สวนทางกับพฤติกรรมของกลุ่มเยาวชนในยุคปัจจุบันที่มีการพบปะกับคนแปลกหน้าได้ง่ายมากขึ้นโดยเฉพาะสื่อออนไลน์หรือการเลือกใช้แอพพลิเคชั่นในการหาคู่ ทั้งนี้ทำให้ง่ายต่อการร่วมเพศกับคนแปลกหน้ามากขึ้น และแนวโน้มที่จะมีเพศสัมพันธ์ไม่ป้องกันก็สูงขึ้นอาจเป็นเพราะขาดองค์ความรู้ ขาดการยับยั้งชั่งใจ หรือแม้กระทั่งนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ เช่น การล่วงละเมิดทางเพศ หรือการถูกกระทำโดยไม่ได้ยินยอมในบางราย เมื่อวัยรุ่น-เยาวชนมีข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้น้อยรวมทั้งความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับยาป้องกัน PrEP/nPEP ไม่ได้แพร่หลายในหมู่เยาวชนเท่าที่ควรจึงทำให้ไม่ได้มีการติดตามสถานะผลเลือดของตนเองและไม่กล้าที่จะเข้ามาตรวจเลือด ก่อเกิดเป็นการติดเชื้อที่ไม่ทราบมาก่อนและส่งต่อเชื้อกันในกลุ่มวัยรุ่น-เยาวชนเพิ่มขึ้น
อาจจะกล่าวได้ว่า ถึงเวลาที่สังคมจะต้องสร้างและกำหนดค่านิยมใหม่ในกลุ่มวัยรุ่น-เยาวชน ส่งเสริมให้มีองค์ความรู้ที่ถูกต้อง ควรรู้จักวิธีการดูแลเพื่อป้องกันตนเองและหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ ด้วยการให้เกียรติและเคารพทุกเพศ หากจะมีเพศสัมพันธ์ต้องรู้จักวิธีป้องกันการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เพื่อลดความเสี่ยง ไม่ควรเปลี่ยนคู่นอนบ่อย ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ หรือการขอรับบริการยาฉุกเฉินหลังสัมผัสเชื้อภายใน72ซม. nPEP (เป๊ป) และวางแผนรับยาป้องกันก่อนสัมผัสเชื้อ PrEP(เพร๊พ) ก็จะช่วยป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีและลดความเสี่ยงในการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : กรมควบคุมโรคและสมาคมโรคเอดส์แห่งประเทศไทย
https://www.thaihealth.or.th/?p=352118
https://multimedia.anamai.moph.go.th/news/061166/
เขียนโดย : สหกูล จินตนาการ
เจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษา ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย