ข่าวประชาสัมพันธ์ รู้ทันเอชไอวี

การเผชิญหน้ากับการตีตราของผู้ติดเชื้อเอชไอวีในวัยรุ่น

วัยรุ่น วัยเจริญพันธุ์

“วัยรุ่น” เป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย อารมณ์ และสังคมอย่างมากเพื่อเตรียมพร้อมแก่การเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ การเจริญเติบโตทางกายภาพเกิดขึ้นพร้อมกันกับพัฒนาการทางเพศที่มีการพัฒนาควบคู่กัน และด้วยสภาพแวดล้อมทางสังคม กลุ่มเพื่อน และสื่อต่างๆบนอินเทอร์เน็ต ความอยากรู้อยากลองในเรื่องเพศจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยากในวัยรุ่น แต่การอยากลองรู้อยากลอง ซึ่งนำไปสู่การลองเพื่อรู้ หากไม่มีความรู้ความเข้าใจในการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย ผลที่ตามมาคือการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัยในวัยรุ่น และสิ่งที่พ่วงมาด้วยนั้น ไม่เพียงแต่ปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อม แต่ในบางรายมีการติดเชื้อเอชไอวีหรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มาด้วย โดยจากการสำรวจสถานการณ์เอชไอวีประเทศไทย ในปี 2565 จากกรมควบคุมโรค คาดว่าผู้ติดเชื้อรายใหม่ 9,230 คน มีจำนวนเยาวชน อายุ 15 – 24 ปี มากถึง 4,379 คน ซึ่งเป็นอัตราส่วนที่สูงมากกว่าผู้ติดเชื้อใหม่ในช่วงอายุอื่น ๆ

การติดเชื้อที่สังคมไม่อยากยอมรับ

ในยุคสมัยที่การติดเชื้อเอชไอวีเป็นเรื่องแปลกใหม่ของคนในสังคม ผู้ติดเชื้อเอชไอวีหลากหลายคนต้องถูกกีดกัด และไม่ถูกยอมรับจากสังคมจนถึงที่สุด ความไม่รู้ ไม่เข้าใจ ไม่คุ้นชินในเรื่องของเอชไอวี ทำให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีเสมือนถูกแขวนป้ายไว้ที่คอ เปลี่ยนจากบุคคลธรรมดาให้กลายเป็นบุคคลผิดปกติ ผลักพวกเขาออกจากสังคม และออกห่างจากความปกติในความหมายจากคนในสังคมตามกระแสหลัก และป้ายที่แขวนอยู่นี้ เรียกว่า การตีตรา

การตีตรา (Stigma) : ป้ายชื่อที่มองไม่เห็น แต่รู้สึกได้อย่างชัดเจน

Erving Goffman (1963) นักสังคมวิทยาชาวอเมริกาผู้ศึกษาแนวคิดการตีตรา ได้อธิบายความหมายของ การตีตรา (stigma) คือ ลักษณะที่บุคคลเสื่อมเสียชื่อเสียงอย่างยิ่ง และลดทอนคนปกติให้มีมลทิน หมดคุณค่า โดยการตีตรานั้นเป็นความสัมพันธ์ระหว่าง การอ้างเหตุผล (Attribute) กับภาพตายตัว (Stereotype) กล่าวคือ การตีตราเป็นการประทับตราให้กับบุคคลลักษณะต่างๆ ซึ่งทำให้บุคคลที่มีลักษณะไม่เป็นที่ต้องการหรือมีภาพตายตัวที่สังคมรังเกียจ

ในกรณีของผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่คนในสังคมอาจจะเคยมีภาพจำผิด ๆ ในการเป็นโรคร้ายแรง  มีตุ่มแผลทั่วตัว แพร่เชื้อได้ง่าย ไม่ควรแม้แต่ใช้ชีวิตร่วมกัน เป็นโรคที่มาจากพฤติกรรมทางเพศที่ไม่ดี ผู้ติดเชื้อเอชไอวีควรมีความรู้สึกละอายใจที่ติดเชื้อ ความเชื่อเหล่านี้สร้างความรู้สึกและทัศนคติด้านลบแก่ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ทำการตัดสินและติดป้ายถึง “ความไม่ดี แปลกแยก ไม่ควรเข้าใกล้” ให้แก่ผู้ติดเชื้อเอชไอวี นำไปสู่การเลือกปฏิบัติ และกีดกันผู้ติดเชื้อเอชไอวีออกจากสังคมโดยสิ้นเชิง แม้ในปัจจุบันความรู้ความเข้าใจในการติดเชื้อเอชไอวีจะมีมากขึ้น ทัศนคติเชิงลบต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวีจะมีลดลง แต่ก็ต้องยอมรับว่า ยังคงมีการตีตราและการเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวีอยู่ในสังคม ซึ่งเห็นได้จากผลการสำรวจสถานการณ์ตีตราและเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวี “การสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย (MICS), สำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2562” ที่พบอัตราการถูกตีตราของผู้ติดเชื้อเอชไอวีมีมากถึง 26.7%

การเผชิญหน้าและการหลบหนีจากการตีตราของผู้ติดเชื้อเอชไอวีในวัยรุ่น

หนึ่งในช่วงเวลายากลำบากของผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่หลายคนต้องเผชิญคือ การเปิดเผยผลเลือดแก่ผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็น ครอบครัว คู่สามี/ภรรยา แฟน เพื่อน หรือแม้กระทั่งบุคลากรทางการแพทย์ การเปิดเผยผลเลือดเปรียบเสมือนกับการเปิดโอกาสรับปฏิกิริยาที่ผู้อื่นมีต่อตนเอง จากการวิจัยพบว่า วัยรุ่นหลายคนเลือกที่จะเปิดเผยผลเลือดกับครอบครัว เนื่องจากวัยรุ่นส่วนใหญ่ยังไม่ทราบว่าเอชไอวีคืออะไร ต้องปฏิบัติตัวอย่างไร และไม่สามารถตัดสินใจได้เองในเรื่องการรักษา ผู้ปกครองจึงเป็นส่วนสำคัญที่จะเข้ามาให้ความช่วยเหลือ

ในทางกลับกันการเปิดเผยผลเลือดนี้ เปรียบเสมือนดาบสองคม เนื่องจากหากผู้ที่ทราบผลเลือดสามารถยอมรับและเข้าใจผู้ติดเชื้อ เอชไอวี ผู้ติดเชื้อเอชไอวีก็จะไม่ถูกตีตราและไม่รู้สึกโดดเดี่ยวกับการเผชิญกับปัญหาเพียงคนเดียว ผู้ติดเชื้อเอชไอวีจะยังคงอยู่ในกระบวนการรักษาอย่างสม่ำเสมอ แต่ถ้าหากผลลัพธ์จากการเปิดเผยผลเลือดเป็นการไม่ยอมรับ ถูกตีตรา และกีดกันผู้ติดเชื้อเอชไอวีออกจากสังคม มีแนวโน้มว่าผู้ติดเชื้อเอชไอวีจะหลบหนีจากสังคม ไม่พาตัวเองเข้าสู่การรักษา เนื่องจากหวาดกลัวการเผชิญหน้ากับผู้อื่นหลังจากต้องเปิดเผยผลเลือดของตนเอง จากผลงานวิจัยยังพบว่า คุณแม่วัยรุ่นผู้ติดเชื้อเอชไอวีหลายคน ตัดสินใจไม่ไปฝากครรภ์ เนื่องจากกลัวการเปิดเผยผลเลือดกับบุคลากรทางการแพทย์ กลัวการไม่ถูกยอมรับจากสังคม กลัวถูกประณาม และถูกกีดกันจากสังคม ทำให้ลูกที่เกิดมาเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีเนื่องจากขาดการดูแลที่ถูกวิธี นอกจากนี้การติดเชื้อเอชไอวียังเกี่ยวพันกับโรคซึมเศร้าอย่างมีนัยยะสำคัญ

ไม่เพียงเท่านั้น ในปัจจุบันวัยรุ่นส่วนใหญ่ที่มีความเสี่ยงจากเพศสัมพันธ์ ไม่รู้ว่าควรทำอย่างไรต่อไป รวมถึงมองว่าเอชไอวี ยังคงเป็นเรื่องที่ไกลตัว ไม่รู้และไม่เข้าใจการติดเชื้อเอชไอวีและมีความอับอายหากต้องรับบริการเกี่ยวกับการตั้งรับและป้องกันในสถานการณ์เสี่ยงเอชไอวี ทำให้ไม่ได้รับยาป้องกันหลังความเสี่ยง(PEP)ได้ทันท่วงที ไม่ได้รับการตรวจหาเชื้อเอชไอวี หรือโรคติดต่อทางเพศอื่นๆ และเมื่อไม่รู้สถานะการติดเชื้อของตนเอง ทำให้เกิดจำนวนผู้ติดเชื้อไปยังผู้อื่นต่อไปโดยไม่รู้ตัว ซึ่งการติดเชื้อโดยไม่รู้ตัว ม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี เข้าสู่กระบวนการรักษาที่ช้าเกินไป จะเป็นผลเสียโดยตรงแก่ร่างกายของผู้ติดเชื้อเอชไอวีให้อ่อนแอลง เมื่อภูมิคุ้นกันต่ำก็มีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อน และเข้าสู่ภาวะเอดส์ในที่สุด

เราทุกคนสามารถทำอะไรได้บ้าง ?

สังคมและผู้คนรอบข้างผู้ติดเชื้อเอชไอวีมีส่วนสำคัญมาก ในการนำพาผู้ติดเชื้อเอชไอวีเข้าสู่กระบวนการรักษาต่อไปอย่างสม่ำเสมอ โดยเริ่มจากการเรียนรู้และเข้าใจเกี่ยวกับเอชไอวี เมื่อทราบว่าเอชไอวีมีการติดต่อช่องทางไหนบ้าง สามารถป้องกันการติดเชื้อได้อย่างไร เมื่อเจอกับสถานการณ์เสี่ยงควรทำอย่างไรต่อไป เมื่อติดเชื้อเอชไอวีแล้วมีการรักษาอย่างไร และสามารถอยู่ร่วมกับผู้ติดเชื้อได้อย่างไร รวมถึงเข้าใจว่าบุคคลแต่ละคนมีประสบการณ์ ความเชื่อ การเรียนรู้ต่อสิ่งต่าง ๆ แตกต่างกัน พบเจอกับสถานการณ์แตกต่างกัน ส่งผลให้มีพฤติกรรมที่แตกต่างกันไป สิ่งเหล่านี้จะลดความกลัว ความรังเกียจต่อการติดเชื้อเอชไอวี และเข้าใจผู้อื่นมากขึ้น เมื่ออคติที่มาจากความไม่เข้าใจลดลง การตีตราและพฤติกรรมการเลือกปฏิบัติก็จะลดลงตามมา เมื่อสังคมลดการกีดกันและการไม่ยอมรับต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวีได้ ผู้ติดเชื้อเอชไอวีจะสามารถอยู่ในสังคมได้ต่อไป สามารถยอมรับตนเอง และเข้าสู่กระบวนการรักษาต่อไป 

อาจกล่าวได้ว่าเอชไอวีไม่ใช่เรื่องไกลตัวของเราทุกคนอีกต่อไป เนื่องจากเราเองก็เป็นส่วนหนึ่งในสังคมของผู้ติดเชื้อเอชไอวีคนใดคนหนึ่ง ดังนั้นอาจจะเป็นไปได้ว่าเราทุกๆคนจะต้องมีส่วนสำคัญต่อการเข้าถึงกระบวนการตรวจ ป้องกัน และรักษาการติดเชื้อเอชไอวี ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราผู้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมต้องตระหนักรู้และเข้าใจในเรื่องของเอชไอวี?

ที่มา : กรมควบคุมโรค file:///C:/Users/User/Downloads/HIV_Factsheet2022_TH_Final_220966.pdf
สมาคมวัฒนธรรมและสุขภาพ file:///C:/Users/User/Downloads/_%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%95%E0%B8%B5%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%88%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%94%E0%B8%89%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B9%8C__.pdf
วิทยานิพนธ์ การตีตราในวัยรุ่นตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อในประเทศไทย file:///C:/Users/User/Downloads/viewcontent.pdf

บทความโดย : ศศิกานต์ โค้ววิลัยแสง
นักสังคมสงเคราะห์ติดตามและสนับสนุนผู้รับบริการ
ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย

Similar Posts