นวัตกรรมทางการแพทย์สำหรับการป้องกันเอชไอวีที่ไม่ควรมองข้าม
การติดเชื้อเอชไอวี เป็นปัญหาสำคัญของประเทศ ซึ่งจากสถานการณ์การระบาดของไอชไอวีในประเทศไทยนั้นการติดเชื้อส่วนใหญ่ยังคงสูงในกล่มประชากรหลัก จากสถิติข้อมูลพบว่าผู้ติดเชื้อรายใหม่ในปี 2565 มีจำนวน 9,200 คนดังนั้นในการดำเนินงานเพื่อลดการติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ พ.ศ. 2560-2573 หัวใจสำคัญในการลดการติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่นั้น คือ การส่งเสริมเข้าถึงบริการยาป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีก่อนการสัมผัสเชื้อ และ หลังสัมผัสเชื้อ ให้กับประชากรที่มีพฤติกรรมเสี่ยงให้ได้รับโอกาสการเข้าถึงบริการป้องกันเอชไอวี เพื่อลดการติดเชื้อรายใหม่และลดปัญหาอันเนื่องมาจากโรคเอดส์ ซึ่งการติดเชื้อเอชไอวีเป็นปัญหาที่มิใช่เฉพาะการระบาดและการเจ็บป่วยจากโรคเท่านั้น ยังมีความเกี่ยวเนื่องกับปัญหาพื้นฐานทางสังคม การรังเกียจกีดกันและเลือกปฎิบัติอีกด้วย
มาทำความรู้จักกับยา PrEP (เพร็พ)
PrEP (เพร็พ) หรือ ยาป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อเอชไอวี (Pre-Exposure prophylaxis) เป็นยาต้านไวรัสในรูปแบบรับประทาน สำหรับผู้ที่ยังไม่มีเชื้อเอชไอวี ทานเพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี โดยการทานยาเพร็พ อย่างสม่ำเสมอและถูกวิธี ในช่วงเวลาที่มีความเสี่ยงในการรับเชื้อเอชไอวีสูง ปริมาณยาก็จะเพียงพอที่จะยับยั้งไวรัส ไม่ให้แตกตัวและแพร่ กระจายในร่างกาย โดยมีหลักฐานการศึกษาวิจัยอย่างเป็นระบบ พบว่า การทานยาเพร็พอย่างถูกต้องสม่ำเสมอและถูกวิธีตามคำแนะนำ จะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อเอชไอวีได้ เกือบ100 %
ในประเทศไทยแนะนำการรับประทานยาเพร็พ แบบรับประทานทุกวัน Daily-PrEP สำหรับประชากรทุกกลุ่ม ในส่วนของการทานยาเพร็พเฉพาะช่วงที่มีความเสี่ยง หรือที่เรียกว่า On-demand PrEP นั้นจะแนะนำในกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้เข้าร่วมวิจัยนวัตกรรมใหม่ๆ ของการใช้ยา PrEP ซึ่งเป็นการใช้ยาต้านไวรัส Cabotegravir ในรูปแบบ ชนิดฉีดมาใช้ในการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ถือว่าเป็นส่วนสำคัญในการปรับตัวให้เข้ากับสถานการร์และวิถีชีวิตของผู้รับบริการ เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ที่ต้องการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีได้มากยิ่งขึ้น
แม้เพร็พจะช่วยป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีได้อย่างดีเยี่ยม แต่เพร็พไม่สามารถทดแทนการใช้ถุงยางอนามัยได้ ดังนั้นจะต้องใช้ถุงยางอนามัย เพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธือื่นๆร่วมด้วย
ยา PEP ย่อมาจาก Post-Exposure Prophylaxis คือยาต้านไวรัสที่จ่ายให้ทันทีภายใน 72 ชม หลังจาก เพิ่งไปสัมผัสเชื้อเอชไอวีมา หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ยาต้านฉุกเฉิน” ตัวยาจะประกอบไปด้วยยาต้านไวรัส 3 ชนิด ส่วนน้อยจะพบผลข้างเคียงเล็กๆน้อยๆเช่น ปวดหัว คลื่นไส้ อาเจียน มีผื่น ซึ่งผลข้างเคียงเหล่านี้มักจะหายไปได้เอง การทานยา PEP จะต้องทานอย่างต่อเนื่อง 30 วันและต้องทานเวลาเดิมทุกวัน โดยแพทย์จะแนะนำให้คนไข้กลับมาตรวจหาเชื้อเอชไอวีหลังจากทานยาครบ 30 วัน ทันที และหลังจากนั้นอีก 2 เดือน
- หากมาไม่ทัน 72 ชม. อยากกินยาได้หรือไม่ ?
การทานยาหลังเวลาดังกล่าว หรือทิ้งไว้นานก็จะทำให้ประสิทธิภาพการรักษาไม่ได้ผล จึงจำเป็นต้องทานให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ในทันทีจะสามารถลดความเสี่ยงในการติดเชื้อได้ถึงร้อยละ 80
- ใครบ้างควรได้รับยาเป๊ป PEP
ผู้ที่ควรได้รับยาต้านไวรัสฉุกเฉิน หรือ ยาเป๊บ PEP ได้แก่ ผู้ที่ไม่ติดเชื้อไวรัสเอชไอวี HIV ผู้ที่ไม่ทราบว่าตนเองติดเชื้อหรือไม่ รวมถึงผู้มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี HIV เช่น มีเพศสัมพันธ์แล้วไม่ได้ใส่ถุงยางอนามัย หรือถุงยางอนามัยฉีกขาด การใช้เข็มฉีดยาร่วมกันกับผู้อื่น การถูกล่วงละเมิดทางเพศ หรือสัมผัสสารคัดหลั่งที่ทำให้ติดเชื้อได้ หากไม่มั่นใจว่าการสัมผัสนั้นทำให้ติดเชื้อได้หรือไม่ แนะนำเข้ารับคำปรึกษาก่อนได้โดยเร็วที่สุด
ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมควบคุมโรค
: https://hivhub.ddc.moph.go.th/epidemic.php
บทความโดย จันทร์จิราภรณ์ พลเดช
นักสังคมสงเคราะห์
ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย