ข่าวประชาสัมพันธ์

การตีตรา การยอมรับ และการเลือกปฏิบัติต่อผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี

การตีตรา การยอมรับและการเลือกปฏิบัติต่อผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีเป็นปัญหาที่สำคัญอย่างยิ่งในหน่วยงานบริการสุขภาพของประเทศไทยและถือเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการจัดการและแก้ไขปัญหาเอชไอวี เนื่องจากจะส่งผลกระทบ ในด้านลบต่อการเข้ารับการตรวจเลือดหาเชื้อเอชไอวี การเปิดเผยสถานะการติดเชื้อเอชไอวี การดูแลรักษาและการคงอยู่ในระบบอย่างต่อเนื่อง จึงจะพามาทำความรู้จักกับเชื้อเอชไอวีและเอดส์ก่อนว่าต่างกันอย่างไร

 เอชไอวี คือไวรัสที่เข้าไปทำลายระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วจะทำลายเม็ดเลือดขาวชนิด CD4 (ซีดีโฟร์) ผู้ติดเชื้อมักจะแข็งแรงปกติหรือมีอาการผิดปกติเล็กน้อย แต่สามารถถ่ายทอดเชื้อให้แก่ผู้อื่นได้  เชื้อเอชไอวีจะทำลายระบบภูมิคุ้มกันให้ลดลงเรื่อยๆ แต่การลดลงของระบบภูมิคุ้มกันจะเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับความรุนแรงของเชื้อ และความแข็งแรงของภูมิคุ้มกันโรคของผู้ติดเชื้อ ซึ่งระยะนี้จะอยู่ประมาณ 5- 10 ปี

เอดส์ คือ คนที่ติดเชื้อเอชไอวีในระยะท้าย ระบบภูมิคุ้มกันและเม็ดเลือดขาวถูกทำลายจนไม่สามารถต้านทานโรค ได้ ถ้าตรวจระดับ CD4 จะพบว่ามักมีจำนวนต่ำกว่า 200 ร่างกายจึงมีโรคแทรกซ้อนหรือโรคฉวยโอกาสได้ง่าย ระยะนี้อาจมีอาการ เช่น มีไข้เรื้อรัง หายใจเหนื่อยหอบจากวัณโรคปอดหรือปอดอักเสบ ท้องเสียเรื้อรัง น้ำหนักลด รูปร่างผอม อ่อนพลีย  สายตาพร่ามัวมองไม่ชัด มีผื่นขึ้นตามร่างกาย เป็นต้น ซึ่งอาการอาจจะรุนแรงและอาจเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิต

สรุปแล้ว เอชไอวีและเอดส์แตกต่างกันตรงที่เอชไอวี คือชื่อของไวรัสที่เข้ามาทำอันตรายร่างกาย ส่วนเอดส์ คือระยะอาการของโรค ผู้มีเชื้อเอชไอวีในร่างกายอาจจะแสดงความผิดปกติของร่างกายเล็กน้อยหรือไม่แสดงอาการเลยก็ได้ และสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ปกติ แต่ผู้ป่วยเอดส์คือระยะที่ร่างกายมีโรคแทรกซ้อนเข้ามาในร่างกายทำให้ป่วยหรือเสียชีวิตได้ ซึ่งหากตรวจพบการติดเชื้อเอชไอวีได้เร็วและเริ่มการรักษาได้เร็วก็จะทำให้ลดอาการป่วย ลดการเสียชีวิต และลดโอกาสในการถ่ายทอดเชื้อแก่ผู้อื่นได้ จึงแนะนำให้ตรวจอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และหากตวจพบการติดเชื้อเอชไอวีก็สามารถเริ่มยาต้านไวรัสได้ฟรีทุกสิทธิ์การรักษา

ปัจจุบันการใช้ยาต้านไวรัสเอชไอวีสำหรับรักษาประสบผลสำเร็จสูง ทำให้ผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีมีสุขภาพแข็งแรง มีชีวิตยืนยาวและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่การสื่อสารเรื่องเอชไอวียังทำให้เกิดภาพจำของโรคเอดส์ที่เคยปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นสื่อต่างๆ หรือแม้กระทั่งความเชื่อที่ถูกรับรู้มาจากอดีต แม้จะพบได้น้อยลงแล้ว แต่บางคนยังมีภาพจำเดิมและความเชื่อที่ผิดว่าถ้าอยู่ใกล้หรือใช้ชีวิตร่วมกับผู้ติดเชื้อเอชไอวีจะทำให้ติดเชื้อไปด้วย จึงเกิดการรังเกียจ หรือ กลัว ทำให้ผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี รู้สึกไม่ได้รับการยอมรับ ถูกตีตัวออกห่าง รังเกียจ นินทาดูถูก จนนำไปสู่การปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียม ทำให้ผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีมีการแยกตัว ซึมเศร้า เกิดความทุกข์ทางด้านจิตใจ จนทำให้มีความคิดทำร้ายตัวเอง สังคมก็มีการสื่อสารผ่านการตีตราว่าเอชไอวีเป็นโรคของคนที่มีความหลากหลายทางเพศ เพราะเชื่อว่าเอชไอวีเป็นโรคที่กลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายสร้างขึ้น เพราะความสำส่อนทางเพศ การตีตราแบบเหมารวมทำให้ผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีถูกมองว่าคนที่ประพฤติตัวไม่ดี

อย่างไรก็ตามความเป็นจริงแล้วเอชไอวีสามารถติดได้ทุกคน ทุกเพศ และทุกวัย และไม่ได้แปลว่าคนที่ติดเชื้อเอชไอวีต้องมีพฤติกรรมเปลี่ยนคู่นอนบ่อย บางคนอาจจะติดจากแฟน จากสามีภรรยา ทำให้ผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีส่วนใหญ่จึงเลือกปกปิดผลเลือด อีกทั้งยังมีกรณีของการเลือกปฏิบัติที่เคยเกิดขึ้น เช่น การปฏิเสธผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีในการเข้าถึงระบบประกันชีวิต บริษัทหรือหน่วยงานบางแห่งบังคับตรวจหาเชื้อเอชไอวีก่อนเข้าทำงาน รวมทั้งอาจปฏิเสธการรับเข้าทำงานหากพบว่าผู้สมัครมีผลเลือดเป็นบวก เพราะมีความเชื่อว่าคนที่มีเชื้อเอชไอวีร่างกายจะอ่อนแอ ทำงานไม่ได้ ลางานบ่อย ทำให้เพื่อนร่วมงานรังเกียจ กลัวเอาเชื้อไปติดเพื่อนร่วมงาน แต่ความจริงแล้วผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีก็สามารถทำงานได้ปกติ ไม่ได้ทำให้การทำงานแย่ลง สามารถใช้ชีวิตได้ปกติ จึงอยากให้ทุกคนช่วยลดภาพจำเดิมเกี่ยวกับเอชไอวีและสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องใหม่ เพื่อที่ผู้ร่วมกับเชื้อเอชไอวีจสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ ไม่ถูกตีตรา ไม่ถูกเลือกปฏิบัติ และได้รับการยอมรับ ไม่ถูกลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์

บทความโดย     นัยน์ภัค  ชัยปัน
นักจิตวิทยาให้การปรึกษา
ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย

Similar Posts